สำหรับวัยทำงานหลายคนในยุคสมัยปัจจุบันอาจกำลังตกอยู่ในภาวะ ออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการนั่งทำงานท่าเดิมนานๆ หรือนั่งไม่ถูกวิธี กล้ามเนื้อต้องเกร็งตัวเป็นระยะเวลานานๆ โดยไม่มีการผ่อนคลาย การจ้องคอมนานๆ สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนทำงานหนักเกินไป ทำให้เกิดความเครียดร่วมด้วย ซึ่งหากไม่บำบัดรักษาหรือป้องกันตั้งแต่ต้น อาจส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพในภายหลังได้
อาการแบบไหนที่เข้าข่ายผู้ป่วยเป็นโรค ออฟฟิศซินโดรม
เกิดการปวดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน โดยคุณไม่สามารถระบุตำแหน่งได้อย่างชัดเจน ตรงบริเวณคอ บ่า ไหล่ และสะบัก
มีอาการปวดวิงเวียนศีรษะเรื้อรัง หรือในบางคนอาจมีอาการปวดหัวไมเกรนร่วมด้วย ซึ่งสาเหตุเกิดจากความเครียดและการใช้สายตาจดจ่อบนหน้าจอคอมพิวเตอร์มากเกินไปเป็นระยะเวลานาน
ปวดหลัง เนื่องจากต้องนั่งทำงานอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันนานหลายชั่วโมง อีกทั้งวิธีท่านั่งก็ไม่ถูกสรีระซะทีเดียว โดยผู้มีอาการมักนั่งหลังค่อม ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อต้นคอเมื่อยล้าและยึดเกร็งอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังรวมไปถึงผู้หญิงที่ใส่ส้นสูงยืนทำงานในออฟฟิศเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้มีอาการปวดหลังจากโรคออฟฟิศซินโดรมได้เช่นเดียวกัน
มีอาการปวดหรือเกิดเหน็บชาบริเวณขาลงมา ซึ่งสาเหตุมาจากการนั่งในท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน จนทำให้เส้นเลือดดำถูกกดทับและการไหลเวียนของเลือดมีความผิดปกติ
ตาล้าพร่ามัว เนื่องจากการที่ต้องใช้สายตาจ้องมองหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
มีอาการมือชา นิ้วล็อค และปวดข้อมือ โดยสาเหตุมาจากการจับเมาส์ในท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน ส่งผลให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณมือหรือนิ้วมืออักเสบได้ นอกจากนี้ยังสามารถทำให้เกิดอาการมือชา จากภาวะพังผืดกดทับเส้นประสาทมีเดียน(median nerve) ได้อีกด้วย
แนวทางการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม
ในปัจจุบันการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมสามารถกระทำได้หลากหลายวิธี โดยเริ่มจากวิธีที่ง่ายที่สุดนั่นคือ การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน ผนวกกับการรับประทานยารักษา แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยอาจต้องทำกายภาพบำบัดด้วยอุปกรณ์ชนิดพิเศษ การออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธี การฝังเข็มแบบสลายจุดปวด การนวดแผนไทย และอื่น ๆ ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการวินิจฉัยหาสาเหตุ รวมถึงตรวจดูว่ามีอาการแทรกซ้อนใด ๆ หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้แพทย์สามารถเลือกวิธีการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมได้อย่างเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยมากที่สุด
การป้องกันการเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม
1. หมั่นออกกำลังกายด้วยท่าที่เหมาะสมกับอาการปวดเมื่อย
2. ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมกับสรีระ
3. เปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานเสียใหม่ โดยจากที่เคยนั่งอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ก็ให้หาเวลาไปเดินผ่อนคลายกล้ามเนื้อและพักสายตาอย่างน้อยทุก ๆ 1 ชั่วโมงกำลังดี
4. หากพบว่ามีอาการปวดกล้ามเนื้อที่ไม่สามารถหายได้จากการยืดกล้ามเนื้อ การปรับสรีระการทำงาน หรือการดูแลรักษาเบื้องต้นด้วยตนเอง ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคออฟฟิศซินโดรมโดยทันที
1. ไม่ควรนั่งอยู่ในท่าเดิมนานๆ
หากเริ่มรู้สึกปวดเมื่อย ควรพักการทำงานเพื่อผ่อนคลายร่างกายและสมอง อย่างการลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย เดินไปสูดอากาศด้านนอกบ้าง ไม่ควรนั่งทำงานติดกันนานเกินไป หรือ หาโต๊ะปรับระดับได้ มาใช้งานปรับปรับเปลี่ยน อิริยาบท ในการทำงาน ก็ได้
2. นั่งทำงานในท่าที่ถูกต้อง
การนั่งทำงาน ไม่ควรนั่งหลังค่อมหรือนั่งเอนหลัง เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อเกิดการล้าและเสียบุคลิก ควรจะนั่งหลังตรง ซึ่งไม่เพียงช่วยลดอาการปวดหลัง แต่ยังทำให้สุขภาพหมอนรองกระดูกดีขึ้น ป้องกันโรคข้อ บรรเทาอาการปวดศีรษะ ทำให้การไหลเวียนของออกซิเจนดี และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยอาหารได้อีกด้วย
3. ไม่ควรเพ่งหน้าจอคอมนานๆ
กล้ามเนื้อร่างกายยังต้องการพักผ่อน สายตาเองก็เช่นกัน จึงไม่ควรเพ่งจอคอมนานหรือใกล้จนเกินไป ควรพักสายตาทุกๆ 1 ชั่วโมง เพราะหากเราเพ่งสายตากับจอคอมนานเกินไป อาจส่งผลทำให้ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อตาและปวดศีรษะได้
4. ปรับสภาพแวดล้อมที่ทำงานให้น่าอยู่
บรรยากาศในห้องทำงานไม่ควรแออัดเกินไป มีอากาศถ่ายเทที่ดี ควรใช้โต๊ะและเก้าอี้ที่เหมาะกับสรีระ สำหรับแสงไฟในห้องควรจะมีความเหมาะสม ไม่จ้าหรือสลัวเกินไป จะช่วยถนอมสายตาได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญในห้องทำงานควรหลีกเลี่ยงไม่ให้มีแสงแดดหรือแสงสว่างจากภายนอกส่องเข้ามาในห้องโดยตรง เพราะแสงที่สว่างเกินไปจะก่อให้เกิดแสงสะท้อนที่จอได้ง่าย ทำให้รู้สึก ไม่สบายตาได้
5. ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกายเป็นการช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้มีอาการออฟฟิศซินโดรมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกีฬาที่ช่วยในเรื่องของการยืดเส้นและสร้างความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ เช่น โยคะ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อแล้ว ยังป้องกันเอ็นและข้อยึด ช่วยผ่อนคลายความเครียด และสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายได้อีกด้วย
6. รักษาด้วยการใช้ยา
สำหรับคนที่มีอาการออฟฟิศซินโดรมที่เริ่มรุนแรงขึ้นแล้ว อาจต้องได้รับยาในการรักษา เช่น ยาบรรเทาอาการกล้ามเนื้อและเอ็นอักเสบ ยาคลายเครียด โดยยาเหล่านี้ควรผ่านการพิจารณาและสั่งโดยแพทย์ผู้วินิจฉัยเท่านั้น
7. รักษาด้วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู
เป็นการรักษาด้วยการใช้เครื่องมือทางกายภาพ เช่น Ultrasound เครื่องดึงคอ หรือการรักษาด้วยการฝังเข็มแบบตะวันตก และการสอนท่าบริหาร เพื่อการป้องกันและรักษา ในเคสที่เป็นมานานเรื้อรังยังมีการสอนหายใจ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่วมด้วย
8. รักษาด้วย Shock Wave
คลื่นกระแทก (Shock Wave) เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดระยะเรื้อรังที่ผ่านการรักษาต่างๆ มาแล้วไม่ดีขึ้น เหมาะกับผู้ที่มีอาการออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) อาการปวดข้อศอก เอ็นข้อศอกอักเสบ พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ ปวดไหล่ ปวดหลัง ปวดสะโพกร้าวลงขา ปวดฝ่าเท้าเรื้อรัง โรครองช้ำ ปวดเอ็นร้อยหวาย ปวดเข่า บาดเจ็บจากกีฬา เป็นต้น